วันอังคารที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2554

แมลงบั่ว (rice gall midge, RGM)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Orseolia oryzae (Wood-Mason)
วงศ์ Cecidomyiidae
อันดับ Diptera
ชื่อสามัญอื่น 



 ตัวเต็มวัยของแมลงบั่ว มีลักษณะคล้ายยุงแต่ลำตัวมีสีส้มยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตรหนวด และขามีสีดำ เวลากลางวันตัวเต็มวัยจะเกาะซ่อนตัวอยู่ใต้ใบข้าว บริเวณกอข้าวและจะบินไปหาที่มีแสงไฟเพื่อผสมพันธุ์ ตัวเมียวางไข่ใต้ใบข้าวเป็นส่วนใหญ่ในตอนกลางคืนโดยวางเป็นฟองเดี่ยวๆ หรือเป็นกลุ่ม ไข่มีลักษณะคล้ายกล้วยหอม สีชมพูอ่อน ยาวประมาณ 0.45 มิลลิเมตร กว้าง 0.09มิลลิเมตร ระยะไข่ประมาณ 3-4 วัน ตัวหนอนที่ฟักจากไข่จะคลานตามบริเวณกาบใบเพื่อแทรกตัวเข้าไปในกาบใบ เข้าไปอาศัยกัดกินที่จุดกำเนิดของหน่ออ่อน (growing point) หนอนมี 3 ระยะ ระยะหนอนนาน 11 วัน ขณะที่หนอนอาศัยกัดกินหน่ออ่อนนั้น ต้นข้าวจะสร้างหลอดหุ้มตัวหนอนไว้ ทำให้ข้าวแสดงอาการ ที่เรียกว่า “หลอดบั่ว หรือ หลอดธูป” หนอนก็เจริญและเข้าดักแด้ภายในหลอดข้าวนั้น โดยระหว่างที่หนอนโตขึ้นหลอดก็จะมีขนาดใหญ่และยืดออก และเมื่อหนอนเข้าดักแด้ หลอดนั้นก็จะยืดโผล่พ้นกาบใบข้าวจนมองเห็นจากภายนอกได้ ระยะดักแด้นาน 6 วัน เมื่อดักแด้ใกล้จะฟักออกเป็นตัวเต็มวัยจะเคลื่อนย้ายมาอยู่ส่วนปลายของหลอด ข้าวนั้น และเจาะออกเป็นตัวเต็มวัยที่ปลายหลอดนั่นเอง พร้อมทั้งทิ้งคราบดักแด้ไว้ที่รอยเปิดนั้น ระยะตัวเต็มวัยนาน 2-3 วันฤดูหนึ่งบั่ว สามารถขยายพันธุ์ได้ 6-7 ชั่วอายุๆที่ 2, 3 และ 4 จะเป็นชั่วอายุที่สามารถทำความเสียหายให้ข้าวได้มากที่สุด


ลักษณะการทำลายและการระบาด

        แมลงบั่วเป็นแมลงศัตรูข้าวที่สำคัญในภาคเหนือตอนบน เช่นที่ จังหวัดตาก แพร่ ลำปาง น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน เชียงราย และเชียงใหม่ ซึ่งพบระบาดรุนแรงในช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ จังหวัดขอนแก่น อุบลราชธานี หนองคาย นครพนม และสกลนครเนื่องจากมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการเพิ่มปริมาณของแมลงบั่ว กล่าวคือ มีความชื้นสูง มีพื้นที่เป็นเขาหรือเชิงเขาล้อมรอบ ทั้งนี้เพราะความชื้นมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการวางไข่ จำนวนไข่ การฟักไข่ การอยู่รอดหลังจากฟักจากไข่ของหนอนและการเข้าทำลายยอดข้าวอ่อนเหตุที่สภาพ ภูมิอากาศเป็นตัวกำหนดการเพิ่มปริมาณของแมลงบั่ว จึงทำให้ในภาคกลางแมลงบั่วเป็นแมลงศัตรูข้าวที่มีความสำคัญน้อย โดยพบบางปี ในจังหวัดฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี และปทุมธานี ภาคตะวันออกที่จังหวัดตราดและจันทบุรี ภาคใต้ที่จังหวัด ชุมพร และสุราษฎร์ธานี





         ตัวเต็มวัยแมลงบั่วจะเข้าแปลงนาตั้งแต่ระยะกล้า หรือช่วงระยะเวลา 25-30 วัน เพื่อวางไข่หลังจากฟักออกตัวหนอนจะคลานลงสู่ซอกของใบยอดและกาบใบเพื่อเข้า ทำลายยอดที่กำลังเจริญทำให้เกิดเป็นหลอดลักษณะคล้ายหลอดหอม ต้นข้าวและกอข้าวที่ถูกทำลายจะมีอาการแคระแกร็น เตี้ย ลำต้นกลม มีสีเขียวเข้ม ยอดที่ถูกทำลายไม่สามารถออกรวงได้ ทำให้ผลผลิตข้าวลดลงมาก ระยะข้าวแตกกอจะเป็นระยะที่บั่วเข้าทำลายมาก เมื่อข้าวเกิดช่อดอก (primodia) แล้วจะไม่ถูกหนอนบั่วทำลาย

         ตัวหนอนเข้าทำลายจุดกำเนิดของหน่อข้าว หน่อข้าวจะสร้างหลอดหุ้มตัวหนอนมีลักษณะคล้ายหลอดหอม ต้นที่ถูกทำลายจะไม่ออกรวง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น